พระพุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์และมรดกของชาติ
ประเทศไทย ได้รับเอาวัฒนธรรมมาจากพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต จนกลายมาเป็นรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย พระพุทธศาสนาจึงถือว่าเป็นเอกลักษณ์และมรดกของชนชาติไทย ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีวัดกระจายอยู่ทั่วไปในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมนุมของสังคมไทย วัดจัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย ทั้งมีบทบาทต่อสังคมในฐานะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทำบุญตามประเพณี จัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เป็นที่พบปะสร้างสรรค์เนื่องในโอกาสต่าง ๆ ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ เห็นได้ชัด ดังนี้
1. ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา
2. ประมุขของชาติไทย ทรงเป็นพุทธมามกะทุกพระองค์
3. พระราชพิธีและรัฐพิธีต่าง ๆ มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมอยู่ด้วย
4. กิจกรรมทางสังคมทั้งหมดของประชาชนทั่วไป จะมีพิธีกรรมทางศาสนาแทรกอยู่ด้วยเสมอ เช่น การเกิด การขึ้นบ้านใหม่ การสมรส และงานฉลองต่างๆ ตลอดจนงานศพ ตั้งแต่เกิดเกิดจนตายก็ว่าได้
5. สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ได้แก่ โบสถ์ เจดีย์ วิหาร หรือศาลาการเปรียญ เป็นต้น
6. รูปแบบการปฏิบัติของพระสงฆ์และจริยาวัตรต่าง ๆ เช่นการรักษาศีล การบิณฑบาต การนุ่งห่ม ซึ่งมีปรากฏให้เห็นเฉพาะสังคมไทย
เอกลักษณ์ของประเทศไทย ที่กล่าวมานี้ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา จนกลายเป็นมรดกของชนชาติไทยตราบเท่าทุกวันนี้